ร้าน ไลออน์คิงส์  : หนังสือพระเครื่องและหนังสือทั่วไป [โซน กรุงเทพฯ]
หน้าแรก
สินค้า
ประวัติการส่งสินค้า
แจ้งชำระเงิน
บทความ
เว็บบอร์ด
เกี่ยวกับเรา
ติดต่อเรา

ยินดีต้อนรับ
Username:
Password:

สามารถใช้รหัสเดียวกันกับเว็บไซต์ uamulet.com ในการใช้งาน
จดจำฉัน
สถิติ
จำนวนสินค้า 21 ชิ้น
มีผู้เข้าชม 36133 ครั้ง
จำนวนหน้าเข้าชม 38015 หน้า
เปิดร้าน 25/08/2555
ปรับปรุงล่าสุด
<< ย้อนกลับ | ถัดไป >>
อาชีพดีที่ยังมีอนาคตไกลครับ ....ช่างซ่อมหนังสือ ( 4189 วันที่ผ่านมา )

หนังสือบางเล่มเมื่อเก็บรักษามานาน ย่อมมีการชำรุด ขาด แหว่ง ไปบ้าง  ถ้าเจ้าของอยากเก็บรักษาต่อไป สิ่งเดียวที่ทำได้คือ ซ่อมแซม แม้บางครั้งค่าซ่อมจะแพงกว่าราคาหนังสือ แต่สิ่งเหล่านี้มีค่าทางจิตใจ

 จึงเป็นที่มาของอาชีพนักซ่อมหนังสือ ซึ่งในประเทศนี้มีน้อยมาก และนั่นเป็นโอกาสของ ภัทรพล ฉัตรชลาวิไล เจ้าของ book clinic รับบริการซ่อมหนังสือ เขาทำอาชีพนี้มานานกว่า 12 ปี

 แรกๆ เขาก็ไม่ต่างจากคนอื่น ไม่คิดว่า การซ่อมแซมหนังสือจะทำเป็นอาชีพได้ เพราะไม่ค่อยมีคนทำอาชีพนี้ จึงต้องเรียนรู้ รอคอยและพิสูจน์ตัวเอง

 ก่อนหน้านี้เขาทำงานด้านถ่ายเอกสาร เข้าเล่ม ถ่ายพิมพ์เขียวแบบบ้าน ในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ เขาจำต้องเปลี่ยนอาชีพ โดยใช้พื้นฐานงานฝีมือการเข้าเล่มและงานช่างมาปรับใช้กับการซ่อมแซมหนังสือ

 “เพราะชีวิตผมอยากสร้างงานมากกว่าสมัครงานตามบริษัท ผมไม่อยากแข่งขัน ผมอยากทำงานด้วยตัวเองมากกว่า จึงพยายามเรียนรู้ด้วยตัวเอง ค้นวิธีทำจากหนังสือ แล้วลงมือทำ ไอเดียหลายอย่างมาลูกค้า เริ่มจากมีคนให้ช่วยซ่อมหนังสือเทพนิยายที่ซื้อมาจากสวนจตุจักร เป็นหนังสือเก่าที่ชำรุด เธออยากนำไปให้ลูกอ่าน เมื่อทำเสร็จ เธอบอกว่า ซ่อมแล้วสวยดี น่าจะซ่อมหนังสือ เพราะอาชีพนี้ไม่ค่อยมีคนทำ” ภัทรพล เล่าถึงแรงบันดาลใจในการทำอาชีพซ่อมหนังสือ

 เขาค่อยๆ เรียนรู้ เนื่องจากมีคนจำนวนมากอยากเก็บหนังสือเก่า เมื่อชำรุดก็ต้องนำมาซ่อม เพราะมีทั้งมูลค่าและคุณค่า ยกตัวอย่าง หนังสือต่วยตูนเคยซื้อมา 15 บาทปัจจุบันราคากว่า 30 บาท แต่ต้องเก็บนานกว่า 20-30 ปี

 ภัทรพลใช้เวลาเกือบ 2 ปีในการตั้งหลัก ทั้งเรื่องการตลาดและการพัฒนาฝีมือ โดยระหว่างนั้นเขายังทำงานอื่น เพื่อหารายได้เพิ่ม เนื่องจากระยะแรกมีคนนำหนังสือมาให้ซ่อมไม่มากนัก จนกระทั่งเริ่มเป็นที่รู้จักได้ซ่อมแซมทั้งหนังสือเก่า หนังสือใหม่ที่ชำรุด และหวังว่า คงจะมีโอกาสได้ซ่อมแซมหนังสือโบราณ

 ส่วนใหญ่คนที่นำหนังสือมาซ่อมแซมในร้านมีสองกลุ่มด้วยกัน คือ กลุ่มที่ไม่สนใจรูปลักษณ์ ขอเพียงซ่อมออกมาแข็งแรงใช้งานได้ และกลุ่มที่ต้องการให้รูปลักษณ์เหมือนเดิม ภัทรพลยกตัวอย่างหนังสือปริอรรถธิบายแห่งพระเครื่อง เล่ม 1 โดย 'ตรียมปวาย' เป็นหนังสือเก่าในวงการพระเครื่อง

 "มีลูกค้านำหนังสือเก่าเล่มนี้มาให้ซ่อมบ่อยมาก เท่าที่จำได้กว่า 10 เล่ม ในวงการพระเครื่องหนังสือเล่มนี้ราคา 8,000-12,000 บาท ผมคิดค่าซ่อม 200 บาท ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มนักเลงพระนำมาซ่อม แค่ซ่อมให้แข็งแรงก็พอแล้ว"

  ถ้าซ่อมแซมหนังสือทั่วไป ภัทรพลคิดค่าซ่อมประมาณ 120- 200 บาท แต่ถ้าเป็นหนังสือเก่าที่ต้องซ่อมแซมทุกหน้า บางเล่มตกเล่มละกว่าพันบาท เมื่อไม่นานนี้เขามีโอกาสซ่อมแซมหนังสือเก่าให้ห้องสมุดโรงเรียนนายร้อยจปร. หลายเล่มอายุกว่า 100 ปี เป็นหนังสือที่เชื้อพระวงศ์มอบให้ห้องสมุด อาทิ วิธีการเลี้ยงม้าเลี้ยงล่อเพื่อการสงคราม หนังสือเหล่านี้ทางอุทยานแห่งการเรียนรู้ทีเคปาร์คนำไปทำเป็นอีบุ๊ค (e-book) จึงต้องซ่อมแซม

 นอกจากเรียนรู้การซ่อมแซมให้แข็งแรงหรือซ่อมให้คงสภาพเดิม เขายังต้องเรียนรู้วิธีการเย็บหนังสือในรูปแบบต่างๆ แต่ที่สุดแล้วก็เลือกใช้ตามมาตรฐานไม่กี่แบบ

 “บางเล่มไม่ต้องเย็บ ก็เอาเลื่อยผ่าฝังด้าย ทากาวหลายรอบ ซึ่งใช้เวลานาน ต่างจากการเย็บหนังสือด้วยมือใช้เวลาไม่นาน นอกจากนี้แล้วหนังสือบางเล่มยังต้องซ่อมทุกหน้า”

 การนั่งซ่อมหนังสือทุกหน้ากระดาษ ถ้าไม่อดทนจริง คงเลิกลาจากอาชีพนี้ไปแล้ว ภัทรพล บอกว่า บางเล่มต้องซ่อมเนื้อกระดาษเก่าที่กรอบให้มีสภาพดีขึ้น โดยเอากระดาษสาทั้งแผ่นมาปะทุกหน้า แล้วตัดขอบให้เท่ากัน จากนั้นเข้าเล่มใหม่ การซ่อมแซมแบบนี้คิดค่าใช้จ่ายหน้าละ 10-20 บาท บางเล่มซ่อมเสร็จราคากว่าพันบาท

 “เวลาผมซ่อมเสร็จ ผมก็ต้องสรุปบทเรียนในการทำ บางเล่มต้องรื้อมาทำใหม่ บางเล่มทำแค่ไม่กี่ชั่วโมง แต่บางเล่มก็ทำเป็นวันๆ ปกติผมซ่อมได้เต็มที่วันละ 7 เล่ม บางส่วนในการซ่อมก็ให้น้องๆ ช่วยทำ ถ้าเป็นการเย็บเล่ม ผมต้องทำเอง”

 ส่วนรายได้จากการซ่อมแซมหนังสือที่บ้าน ภัทรพลบอกว่า สร้างรายได้กว่า 20,000 บาท อย่างการซ่อมหนังสือเก่าให้ห้องสมุดโรงเรียนนายร้อยจปร. รวมๆ กว่า 200 เล่มก็ได้ค่าซ่อมกว่าสองแสนบาท

 "ผมมีลูกค้าทั้งชาวต่างชาติและคนไทยที่เอาหนังสือมาให้ซ่อม บางคนเอามาให้ซ่อมที่บ้าน บางคนส่งมาทางไปรษณีย์ “

นอกจากเรียนรู้เรื่องการซ่อมแซมหนังสือด้วยตัวเอง เขายังให้ความสนใจเรื่องการอนุรักษ์กระดาษ และการซ่อมหนังสือโบราณ ซึ่งต้องใช้ทั้งฝีมือและความละเอียดในการซ่อมแซม

 “สิ่งที่ผมอยากทำอีกอย่างคือ การซ่อมแซมหนังสือโบราณ ในต่างประเทศค่าซ่อมแพงมาก มีนักซ่อมหนังสือโบราณบางคนรับหนังสือจากเมืองนอกมาซ่อมในเมืองไทย โดยส่งมาทางเรือ ผมคิดว่างานแบบนี้น่าทำ ผมเคยซ่อมหนังสือบางเล่มที่มีอายุกว่า 150 ปี แต่ไม่ค่อยมีโอกาสซ่อมหนังสือโบราณ ผมเคยซ่อมหนังสือให้ห้องสมุดสยามสมาคม บรรณารักษ์ชาวต่างชาติเคยหยิบหนังสืออายุกว่า 300 ปีมาให้ดู เล่มที่เธอหยิบให้ดูซ่อมที่อังกฤษราคากว่า 600 ปอนด์ ผมรู้สึกว่า การซ่อมหนังสือโบราณน่าสนใจ นอกจากซ่อมหนังสือให้สยามสมาคม ผมเคยซ่อมหนังสือให้ห้องสมุดโรงเรียนนานาชาติและมิวเซียมสยามด้วย"

 เหมือนเช่นที่กล่าว แม้จะเป็นอาชีพที่ไม่ค่อยมีคนสนใจ แต่การซ่อมหนังสือก็สร้างความมั่นคงให้ชีวิตภัทรพล ไม่ต่างจากอาชีพอื่น เขาบอกว่า การทำอาชีพนี้ต้องมีใจรักในสิ่งที่ทำ

 “ถ้าชีวิตคุณชอบอะไร ก็ทำสิ่งนั้น ตอนแรกๆ อาจยังไม่สร้างรายได้ เราก็ต้องหาความรู้และลองทำ มาถึงจุดหนึ่งสิ่งเหล่านี้จะกลายเป็นงานของเรา ผมเองก็เริ่มจากชอบซื้อหนังสือเก่า พอเห็นหนังสือชำรุด ก็มีนิสัยชอบซ่อม ตอนที่เย็บหนังสือก็อยากให้ออกมาดี เป็นงานที่ตรงกับลักษณะนิสัย ทำได้โดยไม่รู้สึกเบื่อ” ภัทรพล เล่า

 ส่วนในเรื่องเทคนิคการซ่อมแซม แต่ละคนก็ทำออกมาต่างกัน แต่มีมาตรฐานที่คนทั่วโลกทำอยู่ไม่กี่แบบ
 “เทคนิคการซ่อมหนังสือในเมืองไทยส่วนใหญ่มาจากทางจีน เครื่องมือบางชิ้น ผมคิดขึ้นเอง นำมาประยุกต์ใช้งานให้เหมาะสม อินเตอร์เน็ตช่วยในเรื่องนี้มาก ผมค้นข้อมูลได้ อย่างการเย็บหนังสือของคนญี่ปุ่น จะไม่มีปมให้เห็นเลย “

 การซ่อมหนังสือจึงเปรียบเสมือนงานฝีมือชนิดหนึ่ง ต้องใจรักและปราณีตในการทำ ภัทรพลยกตัวอย่าง งานซ่อมหนังสือของอาจารย์จำรัสซึ่งซ่อมหนังสือให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ
 “ถ้าเห็นหนังสือที่อาจารย์จำรัสซ่อม จะรู้ทันทีว่าเป็นฝีมืออาจารย์ บางครั้งการซ่อมหนังสือก็เหมือนงานเย็บผ้า เป็นอาชีพที่ทำแล้วมีความสุข เป็นความภูมิใจอย่างหนึ่ง เพราะตอนที่หนังสือชำรุด ดูไม่มีค่า พอทำเสร็จ ลูกค้าบอกว่า สวยดี คุณซ่อมตรงไหนล่ะ”

 แค่ประโยคสั้นๆ ที่เขาเล่าให้ฟัง เพียงแค่นี้ ก็ทำให้คนซ่อมหนังสือเช่นเขา...ปลื้มแล้ว

คัดลอกมาจาก กรุงเทพธุรกิจ

Life Style : Life

วันที่ 25 ธันวาคม 2554 08:56
คำค้น :